แหล่งท่องเที่ยว
อ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง
356
9 พฤศจิกายน 2564
พระราชดำริ/เรื่องเดิม/ความเป็นมา
เมื่อปี ๒๕๐๕ นายเปรม อักษรสว่าง สมาชิกสภาจังหวัดพัทลุง และนายกพุทธิกสมาคมบางแก้ว ได้นำสมาชิกฯ ยุวกสิกรและประชนประมาณ ๕๐๐ คน ขุดลอกเหมืองส่งน้ำจากคลองตะโหมดหรือคลองท่าเชียดเพื่อนำไปใช้ในเขตอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง แต่ไม่ได้ผล เนื่องจากจะต้องขุดเหมืองส่งน้ำลึกประมาณ ๕-๖ เมตร ซึ่งเกินกำลังที่เกษตรกรจะทำได้ ต้องใช้เทคนิคและเครื่องจักรเครื่องมือในการดำเนินงาน จึงร้องเรียนผ่านชลประทานภาคใต้ในสมัยนั้น ขอให้พิจารณาเปิดโครงการท่าเชียดขึ้นเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวชลประทานภาคใต้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปพิจารณาเห็นว่าลู่ทางที่จะเปิดการก่อสร้างโครงการฯ ขึ้นได้จึงส่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการสำรวจรายละเอียดภูมิประเทศและสถิติต่างๆ เพื่อนำมาวางโครงการและออกแบบ และได้ก่อสร้างโครงการเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๔ มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๒๑,๕๒๗ ไร่ พื้นที่ชลประทาน ๑๐๐,๐๐๐ ไร่
วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาโครงการชลประทานเพื่อช่วยเหลือการทำนาในเขตจังหวัดพัทลุง ต่อมาสำนักงานชลประทานที่ ๑๒ (ปัจจุบันคือสำนักชลประทานที่ ๑๖) ได้รับหนังสือจากอำเภอตะโหมด ที่ พท.๐๖๑๖/๒๕๖ ลงวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๒ ขอให้พิจารณาความเป็นไปได้โครงการอ่างเก็บน้ำโละหนุน ตามพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการชลประทานท่าเชียด จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ และลดอันตรายจากอุทกภัยในเขต อำเภอตะโหมด อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
ประโยชน์ที่จะได้รับ
ดำเนินการแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรจำนวน 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหัวช้าง หมู่ที่ 2 บ้านคลองนุ้ย หมู่ที่ 5 บ้านโละจังกระ หมู่ที่ 6 บ้านควนอินนอโม หมู่ที่ 7 และ บ้านโละเหลียง หมู่ที่ 8 ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ราษฎร 813 ครัวเรือน 3,873 คน จะมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค นอกจากนี้ยังสามารถส่งน้ำเพื่อเป็นน้ำต้นทุนไปเติมให้กับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก และบรรเทาอุทกภัยช่วงฤดูฝนในเขตอำเภอตะโหมด อำเภอเขาชัยสน และอำเภอบางแก้ว ตลอดจนสามารถส่งน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในพื้นที่โครงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านอาพัดและหมู่บ้านใกล้เคียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเขาชัยสน และโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ อำเภอบางแก้ว ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ
1. สามารถส่งน้ำช่วยเหลือการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด จำนวน ๓๘,๐๐๐ ไร่ (พื้นที่ชลประทาน ๑๐๓,๒๙๘ ไร่)
2. สามารถใช้น้ำในอ่างฯ เพื่อการอุปโภค – บริโภคของราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
3.บรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนในเขต อำเภอตะโหมด อำเภอเขาชัยสน และอำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง
4.ส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง
5.ส่งน้ำสนับสนุน โครงการแก้ไขปัญหาแลพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านอาพัด และหมู่บ้านใกล้เคียง อำเภอเขาชัยสน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
6.สามารถใช้ตัวอ่างฯ เป็นแหล่งแพร่ เพาะ และขยายพันธ์ปลาน้ำจืดรวมทั้ง6.เป็นแหล่งจับปลา ของราษฎรที่อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งด้วย
7.ใช้เป็นสถานที่พักหย่อนใจของราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง